นอนกรน สัญญาณอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

Last updated: 31 ต.ค. 2566  |  4503 จำนวนผู้เข้าชม  | 


นอนกรน สัญญาณอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

นอนกรน สัญญาณอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม  และ วิธีการรักษาในทางการแพทย์ที่ได้ผลในปัจจุบัน
 

เหตุการณ์เหล่านี้เคยเกิดขึ้นกับคุณบ้างหรือไม่ ??

คนรอบข้างบอกคุณว่า...คุณนอนกรนเสียงดัง...ต้องสะกิดปลุกกลางดึก...เวลาไปเที่ยวเพื่อนล้อว่าคุณกรนเสียงดัง ส่วนมากมักปฏิเสธว่าไม่ได้นอนกรนจนบางครั้งต้องแอบไปนอนคนเดียวเพื่อไม่ให้คนรอบข้างรู้สึกไม่ดี ความจริงแล้วการนอนกรนก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพและเป็นสัญญาณอันตรายที่อาจบ่งบอกว่าคุณกําลังมีปัญหาสุขภาพ ซึ่งผลจากการนอนกรนจะนําไปสู่การเกิดโรคนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับได้

โรคนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ Obstructive Sleep Apnea (OSA) คืออะไร

ทั้งนี้ โรคนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับคือ การที่ทางเดินหายใจส่วนต้นตีบแคบลงขณะหลับ โดยเสียงกรนจะเกิดขึ้นขณะหายใจ เพราะอากาศจะเดินทางผ่านที่แคบทําให้เกิดเสียงดัง ทางเดินหายใจที่เกิดตีบแคบขณะหลับนั้น จะตั้งอยู่หลังจมูกจนถึงทางเปิดกล่องเสียง มีลักษณะเหมือนท่อยางยืดหยุ่นที่ไม่มีกระดูกและเป็นโครงแข็ง


โรคนอนกรนและหยุดหายใจเกิดขึ้นเฉพาะขณะหลับเท่านั้น เพราะขณะตื่นสมองจะสั่งงานเต็มที่ให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้น ขยายทางเดินหายใจส่วนต้นเต็มที่ ทําให้พูด หายใจและร้องเพลงผ่านทางเดินหายใจนี้ได้ แต่เมื่อหลับและสมองกําลังพักผ่อน ทําให้กล้ามเนื้อบริเวณนี้ทํางานน้อยลง ท่อทางเดินหายใจส่วนต้นก็จะฟีบเข้าหากันเหมือนการดูดหลอดกาแฟ

อย่างไรก็ดี อาการนี้ไม่เกิดกับทุกคน หากทางเดินหายใจส่วนต้นของคนนั้นกว้างก็จะแคบลงเล็กน้อย ซึ่งไม่เป็นอันตราย แต่คนที่เป็นโรคนอนกรนและหยุดหายใจนั้น มักมีทางเดินหายใจส่วนต้นแคบเล็ก ซึ่งอาจตีบแคบจนปิดสนิท ทําให้ไม่สามารถหายใจเอาอากาศผ่านไปสู่ปอดได้และเกิดผลเสียตามมาหลายอย่าง เช่น ทําให้ออกซิเจนในเลือดต่ําเนื่องจากขาดอากาศหายใจ จึงต้องพยายามหายใจแรงขึ้นเพื่อเปิดทางเดินหายใจนี้ เมื่อสมองถูกกระตุ้นให้ตื่นบ่อยๆ ทําให้หลับไม่ลึกและรู้สึกง่วงนอนตอนกลางวัน เพลียและไม่สดชื่นเหมือนพักผ่อนไม่เพียงพอ ส่งผลกระทบอื่นๆ ตามมา เช่น ประสิทธิภาพการทํางานลดลง ความจําไม่ดี หงุดหงิดง่าย ง่วงหลับใน และหากทิ้งไว้ในระยะยาวโดยไม่ได้รักษาอาจนําไปสู่โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต และโรคซึมเศร้า

เห็นไหมล่ะคะ ผลที่ตามมามีมากมายหลายอย่างเลยทีเดียว !!

ส่วนสาเหตุของทางเดินหายใจส่วนต้นแคบเกิดได้จากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น โครงสร้างใบหน้าขากรรไกรเล็ก หรือมีลิ้นใหญ่ ต่อมทอนซิลโต และที่สําคัญคือ ความอ้วนซึ่งทําให้มีไขมันสะสมบริเวณคอ โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกวัย โดยในเด็กมักเกิดจากมีต่อมทอนซิลโต หรือเกิดจากโครงสร้างใบหน้า ส่วนในผู้ใหญ่มักพบในผู้ชายมากกว่า เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงจะช่วยป้องกันอยู่ แต่เมื่อเข้าสู่วัยทอง ผู้หญิงจะมีโอกาสเสี่ยงมาก

หากคุณผู้อ่านสงสัยว่ามีอาการของโรคนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา ซึ่งในผู้ใหญ่สามารถสังเกตได้ดังนี้

1. นอนกรนเสียงดังเป็นประจํา

2. หยุดหายใจขณะนอนหลับ หายใจแรงๆ และเสียงดังเป็นพักๆ สลับกับนิ่งเงียบแล้วหายใจเฮือกเหมือน จะสําลักน้ําลาย บางครั้งผู้ป่วยจะตื่นขึ้นมารู้สึกเหมือนหายใจไม่ออก

3. ง่วงนอนกลางวัน บางครั้งเผลอหลับไประหว่างประชุม
  
 
 

ผลกระทบที่สําคัญของโรคนี้คือ ทําให้ไม่มีสมาธิในการทํางาน ขี้ลืม หงุดหงิดง่าย วิตกจริต หรือ ซึมเศร้า ตื่นนอนตอนเช้าพบว่าปวดศีรษะ คลื่นไส้และปัสสาวะบ่อยช่วงนอนหลับกลางคืน ผู้ชายอาจมีปัญหาเรื่องสมรรถภาพทางเพศลดลง ส่วนผู้หญิงอาจมีปัญหาประจําเดือนมาไม่สม่ําเสมอ ทั้งนี้ อาจมีอาการแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละคน และส่วนมากผู้ป่วยมักไม่รู้ตัวว่าเป็นต้องอาศัยคนรอบข้างสังเกตอาการ การตรวจวินิจฉัยของแพทย์จะเกิดในห้องปฏิบัติการการนอนหลับ (Sleep Laboratory) โดยจะติดอุปกรณ์หลายชนิดเพื่อวัดคลื่นสมอง ระดับออกซิเจน และลมหายใจขณะนอนหลับ เป็นต้น ส่วนวิธีการรักษาโรคนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ แพทย์จะรักษาตามความรุนแรงของอาการของผู้ป่วยแต่ละรายด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
 
  
วิธีการที่ 1 ใช้เครื่องช่วยหายใจแรงดันบวก หรือ ซีแพ็พ (CPAP)

เป็นการรักษาประสิทธิภาพสูงเพื่อขยายและถ่างทางเดินหายใจส่วนต้นไม่ให้ตีบแคบขณะนอนหลับ โดยตัวเครื่องจะเป่าลมผ่านท่อสายยางไปสู่จมูกผู้ป่วยผ่านจากหน้ากาก และเนื่องจากผู้ป่วยแต่ละรายต้องการแรงดันที่แตกต่างกันเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการจะค่อยๆ ปรับแรงดันที่เหมาะสมจนไม่มีอาการกรนหรือหยุดหายใจให้แต่ละคน ผลกระทบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจแรงดันบวก อาจก่อให้เกิดอาการคัดจมูก ปากแห้ง คอแห้ง เป็นต้น เมื่อเริ่มต้นใช้เครื่องไม่ควรละทิ้งเครื่อง เพราะการใส่เครื่องในช่วงแรกอาจยังไม่คุ้น ต้องอาศัยการปรับตัวให้ชินกับเครื่องระยะหนึ่งแล้วจะรู้สึกดีและหลับได้ดีขึ้น การรักษาด้วยเครื่องซีแพ็พถือเป็นมาตรฐานการรักษาโรคนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับ เนื่องจากมีประสิทธิภาพสูงในผู้ป่วยเกือบทุกราย แต่จะเป็นผลสําเร็จในระยะยาวหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการยอมรับของผู้ป่วย

วิธีการที่ 2 การใส่ฟันยาง หรือ Oral Appliance ผู้ป่วยบางราย

อาจรักษาได้ผลดีด้วยการใส่ฟันยาง การใส่ฟันยางนี้ ทันตแพทย์จะเป็นผู้ตรวจและประดิษฐ์ให้ผู้ป่วยแต่ละคน จะได้ผลดีในผู้ป่วยที่มีระดับโรคของเล็กน้อยและปานกลาง แต่ผู้ป่วยที่มีระดับของโรครุนแรงมักไม่ได้ผลเท่าที่ควร ประโยชน์ของฟันยางนี้จะช่วยเปิดทางเดินหายใจส่วนต้นให้กว้างขึ้น โดยการยื่นขากรรไกรล่างและลิ้นมาทางด้านหน้า ส่วนปัญหาที่พบมากจากการใส่ฟันยางนี้ คือ ปวดขากรรไกร การสบฟันเปลี่ยนไป รวมทั้งมีน้ําลายไหลมาก

วิธีการที่ 3 การผ่าตัด

การผ่าตัดสามารถทําได้หลายรูปแบบ เช่น การผ่าตัดแก้ไขจมูกคด การจี้เยื่อบุโพรงจมูกที่บวม จะช่วยลดอาการคัดจมูกหรือ กรนได้บ้าง แต่มักไม่ช่วยทําให้โรคหายได้จึงมักเป็นการรักษาเสริมกับการรักษาอื่นๆ การผ่าตัดจะได้ผลดีในครึ่งหนึ่งของผู้ป่วย จึงควรปรึกษาแพทย์ถึงความเหมาะสม เพราะอาจมีภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดได้ เช่น พูดไม่ชัด สําลักน้ําขึ้นจมูก เป็นต้น จึงควรติดตามอาการและตรวจการนอนหลับซ้ําในห้องปฏิบัติการภายหลังการผ่าตัดแล้วระยะหนึ่ง

บทความโดย :  อาจารย์ พญ.วิสาข์สิริ ตันตระกูล
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

 
นอนกรน, อาการนอนกรน, นอนกรนหยุดหายใจ, Sleep Apnea, OSA , Obstructive Sleep Apnea, หยุดหายใจขณะหลับ, pkhealthcare, CPAP, ResMed, ตัวแทนจำหน่าย ResMed, ศูนย์บริการ ResMed ประเทศไทย, ResMed ประเทศไทย, เครื่อง cpap, เครื่อง cpap ยี่ห้อไหนดี

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้